5 ตลาดสินค้าไทยส่งออก
ที่น่าสนใจ

สินค้าไทยส่งออกตลาดโลก

สินค้าไทยถือว่าเป็นที่ต้องการของตลาดโลกไม่น้อยเลยทีเดียว โดยรายงานจาก กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ พบว่าการส่งออกในปี 2017 นั้นมีมูลค่าสูงถึง 3,030,418.6 ล้านบาท โดย 5 ตลาดหลักที่น่าสนใจและมีมูลค่าการส่งออกสูงที่สุด ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ฮ่องกง และเวียดนาม ซึ่งที่ผ่านมาการส่งออก ก็มีอัตราการขยายตัวอยู่ตลอด นอกเหนือจากนี้เราจะสังเกตเห็นได้เสมอว่า เวลาชาวต่างชาติมาเที่ยวเมืองไทยทีไร ก็จะซื้อสินค้ากลับไปฝาก เพื่อน พี่น้อง และครอบครัวมากมาย แสดงให้เห็นถึงความต้องการและความสนใจ ในสินค้าไทยของชาวต่างชาติ ซึ่งตรงนี้เองถือเป็นโอกาสดีที่เราจะส่งสินค้าออกไปขายให้ตรงกับตลาดเหล่านั้นบ้าง

Export Value

5 ตลาดหลักที่สินค้าไทยส่งออก

อันดับ 1 – จีน

ประเทศจีนถือเป็นอันดับต้นที่การส่งออกมีมูลค่าสูงที่สุดถึง 995,474.8 ล้านบาท ในปี 2017 ซึ่งคิดเป็นส่วนแบ่งถึง 12.4% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย ถือเป็นตลาดที่ใหญ่และมีกำลังซื้อมหาศาล เพียงแค่เราสามารถเจาะเข้าไปได้เพียง 1% ของประชากรทั้งหมดก็ถือว่าสุดยอดแล้ว แต่เค้กก้อนใหญ่ก้อนนี้ ใช่ว่าจะสามารถตัดมารับประทานได้โดยง่าย ผู้บริโภคชาวจีนมองว่าสินค้าไทย มีความแตกต่างทั้งทางภาพลักษณ์ คุณภาพ และความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งสินค้าที่จะขายดีเป็นที่นิยม อาจไม่จำเป็นจะต้องเป็นสินค้าที่มีเอกลักษณ์ไทยเสมอไป แต่ต้องเน้นที่ความน่าสนใจ และความปราณีตในการนำเสนอสินค้าต่างๆ โดยสินค้าที่เหมาะแก่การส่งออกไปยังประเทศจีน คือ อาหาร พวก ขนมทานเล่น เช่น กล้วยทอด เผือกทอด ทุเรียนทอด ยาสมุนไพร ยางพารา

อ่านเพิ่มเติม: 5 แอปพลิเคชันฮิต อยากส่งออกไปจีนต้องรู้จัก

อันดับ 2 – สหรัฐอเมริกา

ประเทศสหรัฐอเมริกาถือเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าไทยที่ใหญ่ที่สุดในประเทศฝั่งตะวันตก และอันดับ 2 ของโลกที่ไทยส่งออกสินค้า มากที่สุด ซึ่งในปี 2017 มีมูลค่าการส่งออกมากถึง 897,666.04 ล้านบาท คิดเป็นส่วนแบ่ง 11.2% ของทั้งหมด โดยสินค้าที่อยู่ในความสนใจของผู้บริโภคชาวอเมริกันที่เหมาะกับการส่งออก คือ อาหารแปรรูป เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องประดับ แผงโซล่าเซลล์ โดยเฉพาะเสื้อผ้าสำเร็จรูปหากเราสามารถพัฒนารูปแบบสินค้า ออกแบบ ให้มีความน่าสนใจ เข้าใจตรงตามเทรนด์ ก็จะยิ่งเป็นที่น่าสนใจ เนื่องจากคุณภาพและการตัดเย็บของไทยเป็นที่น่ายอมรับ แต่ทั้งนี้ก็ต้องอย่าประมาทคู่แข่งอย่าง จีน อินโดนีเซีย เม็กซิโก แม้คุณภาพสินค้าจะต่ำกว่าของไทย แต่เมื่อมีราคาถูก จึงอาจจะทำให้เราสูญเสียตลาดได้ง่าย

อันดับ 3 – ญี่ปุ่น

ประเทศญี่ปุ่นมีส่วนแบ่งด้านการส่งออกสินค้าจากไทยถึง 9.4% คิดเป็นมูลค่ารวม 754,855.18 ล้านบาท จากข้อมูลในปี 2017 ที่ผ่านมา ย้ำชัดถึงความต้องการในสินค้าไทย ไม่เพียงแต่มีความโดดเด่นมาในด้านการท่องเที่ยว แต่ด้านการนำเข้าสินค้าจากไทยก็โดดเด่นไม่แพ้กัน โดยญี่ปุ่นเป็นชาติที่นิยมใช้ผ้าไหมเป็นอย่างมาก สังเกตได้จาก ความประณีต และศิลปะต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่าผ้าไหมไทย มีลวดลาย สีสันสวยงาม มีลักษณะเฉพาะเป็นเอกลักษณ์ ฝีมือการทอปราณีต และมีคุณภาพดี อีกทั้งยังเป็นสินค้าหัตถกรรมที่มีมูลค่าสูงเพราะทำมือ โดยนอกเหนือจากผ้าไหม ด้ายปั่นไหม เศษไหม ก็สามารถนำมาพัฒนาเป็นสินค้า เช่น ผ้าคลุมไหล่ ผ้าพันคอ ให้ตรงตามรสนิยมของ คนญี่ปุ่นก็จะยิ่งเพิ่มมูลค่าของสินค้าได้อีก นอกเหนือจากนี้ สินค้าที่น่าสนใจส่งออกก็คือ เครื่องครัว ของใช้ภายในบ้าน เซรามิก และเฟอร์นิเจอร์ไม้สไตล์เก๋ๆ นอกจากนี้ยังมี สมุนไพรจากธรรมชาติ และเครื่องหอมต่างๆ อีกด้วย

อันดับ 4 – ฮ่องกง

ประเทศฮ่องกงเป็นอีกหนึ่งประเทศในแถบเอเชีย ที่มีมูลค่าการส่งออกสินค้าจากไทยติดอันดับ โดยในปีที่ผ่านมา 2017 มีมูลค่าการส่งออก 416,566.83 ล้านบาท คิดเป็นทั้งหมด 5.2% ถึงแม้ว่าจะเป็นประเทศที่มีพื้นที่จำกัด แต่ก็มีประชากรจำนวนมาก และยังมีกำลังการซื้อที่ไม่เป็นรองใครด้วย สำหรับสินค้าที่เหมาะกับการส่งออกไปโกอินเตอร์ ส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าด้านเกษตรกรรม เนื่องจากประเทศฮ่องกงมีลักษณะภูมิทัศน์ที่ไม่เอื้อต้องการเพาะปลูก และไม่มีพื้นที่เพียงพอ ดังนั้น ผลไม้สด อย่างเช่น ข้าว ทุเรียน มะม่วง มะพร้าว รวมไปถึง ดอกไม้นานาชนิด จึงเป็นสิ่งที่เหมาะสม โดยเฉพาะกล้วยไม้ ซึ่งประเทศไทยเราได้เปรียบ ตรงที่มีภาพลักษณ์ตรงกับการปลูกกล้วยไม้อยู่แล้ว อีกทั้งยังมีฐานผู้สั่งซื้อและเป็นที่รู้จักเป็นจำนวนมาก

อันดับ 5 – เวียดนาม

ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามมีมูลค่าการส่งออกสินค้าไทย 393,723.79 ล้านบาท คิดเป็น 4.9% ถือเป็นตลาด ที่น่าสนใจมาก โดยเฉพาะเมื่อเวียดนามมีแผนกำหนดยุทธศาสตร์ส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศในปี 2016-2020 ยิ่งเป็น การดีสำหรับผู้ส่งออกไทย ที่จะต้องมุ่งเน้นสร้างความแข็งแกร่งให้กับสินค้าแบรนด์ไทย มากไปกว่านั้นธุรกิจไทย จะได้รับสิทธิประโยชน์จาก FTA อีกด้วย โดยสินค้าที่เหมาะแก่การส่งออกไปโกอินเตอร์ได้แก่ เครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมสิ่งทอ รองเท้า เครื่องสำอางค์ ครีมบำรุง เครื่องดื่ม อุปกรณ์ไฟฟ้า และชิ้นส่วนยานยนต์